โรคริดสีดวงทวาร


ริดสีดวงทวาร หมายถึง โรคที่เกิดจากกลุ่มของหลอดเลือดดำบริเวณปลายสุดของลำไส้ใหญ่ และทวารหนัก มีอาการบวม โป่งพอง และมีหลอดเลือดดำบางส่วนยื่นออกมาจากทวารหนัก ทำให้เกิดอาการเจ็บปวด หรือคัน รวมไปถึงนั่งถ่ายลำบากมากขึ้น

โรคริดสีดวงทวารแบ่งเป็น 2 ชนิด

1. ริดสีดวงทวารชนิดเป็นภายใน

หมายถึง ริดสีดวงทวารที่เกิดเหนือทวารหนักขึ้นไปตามปกติจะไม่โผล่ออกมาให้เห็นและคลำไม่ได้และมักจะถูกคลุมด้วยเยื่อลำไส้ใหญ่ตอนปลายสุดจะไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดในขณะที่ยังไม่มีอาการแทรกซ้อน

2. ริดสีดวงทวารชนิดเป็นภายนอก

หมายถึง ริดสีดวงที่เกิดขึ้นบริเวณปากรอยย่นของทวารหนัก สามารถมองเห็นและคลำได้หลอดเลือดที่โป่งพองจะถูกคลุมด้วยผิวหนังจึงอาจเกิดความเจ็บปวดได้เพราะผิวหนังมีปลายประสาทรับความรู้สึก

ริดสีดวง

สาเหตุการเกิดโรคริดสีดวงทวาร

โรคริดสีดวงทวารยังไม่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจนถึงสาเหตุการเกิดโรค แต่มีความเกี่ยวข้องกับแรงดันที่เพิ่มมากขึ้นของเส้นเลือดบริเวณทวารหนัก ทำให้เส้นเลือดเกิดการบวมหรือนูนจากแรงดันที่มีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมีความเป็นไปได้จากหลายสาเหตุ เช่น การเบ่งอุจจาระอย่างรุนแรง การนั่งถ่ายอุจจาระเป็นเวลานาน โรคอุจจาระร่วงเรื้อรัง อาการท้องผูก การตั้งครรภ์ โรคอ้วน การมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก การรับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย หรือแม้แต่เนื้อเยื่อที่รองรับเส้นเลือดบริเวณลำไส้ใหญ่ส่วนปลายและทวารหนักเกิดการเสื่อมหรือขยายตัว นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีกดังนี้
  • เกิดจากพันธุกรรม พบว่า ยีน FOXC2 gene บนโครโมโซมคู่ที่ 16 อาจเกี่ยวข้องกับการเกิดของโรคและเส้นเลือดขอดที่ขา
  • เกิดจากผู้ที่ต้องยืนนาน ๆ ทำให้ความดันเลือดในหลอดเลือดดำบริเวณปากทวาร ไหลกลับสู่หลอดเลือดดำในช่องท้องช้าลง เมื่อการไหลของเลือดดำช้าลงประกอบกับมีความดันในช่องท้องสูง จึงเกิดการคั่งของหลอดเลือดดำบริเวณกลุ่มหลอดเลือดปากรูทวารหนักส่งผลให้กลุ่มหลอดเลือดดำโป่งพองจนเกิดอาการของโรค
  • เกิดจากโรคแทรกซ้อนของโรคอื่น ๆ เช่น โรคตับแข็ง หรือโรคตับอักเสบไวรัสบีซึ่งจะมีอาการท้องมานในระยะสุดท้าย 

อาการโรคริดสีดวงทวาร

การเกิดอาการจะมีอยู่ด้วยกัน 4 ระยะ

ระยะที่ 1

ระยะเริ่มแรกของอาการ เริ่มเส้นเลือดดำโป่งพองในทวารหนักเวลาเบ่งถ่ายอุจจาระจะมีเลือดไหลออกมาด้วย ถ้าท้องผูกเลือดจะออกมากยิ่งขึ้น

ระยะที่ 2

จะแสดงอาการมากขึ้น เริ่มมีหัวริดสีดวงทวารโตมากขึ้น เริ่มโผล่ออกมาพ้นทวารหนักแล้วพอควร เวลาเบ่งอุจจาระจะออกมาให้เห็น แต่เมื่อเวลาถ่ายอุจจาระเสร็จแล้วจะหดกลับเข้าไปภายในทวารหนักได้เอง

ระยะที่ 3

อาการเริ่มรุนแรงมากยิ่งขึ้นเวลาถ่ายอุจจาระหัวริดสีดวงทวารหัวจะโผล่ออกมามากกว่าเดิม หรือแม้แต่เวลาจาม ไอ ยกสิ่งของหนัก ๆ ที่มีความเกร็งในช่องท้องเกิดขึ้น หัวริดสีดวงทวารจะออกมาข้างนอกทวารหนักแล้วก็กลับเข้าที่เดิมไม่ได้

ระยะที่ 4

ช่วงนี้เป็นช่วงที่ ริดสีดวงกำเริบมากโตมากขึ้น อาการบวม อักเสบ อาการแทรกซ้อน รุนแรงมาก มีเลือดออกมาเสมอ อาจมีน้ำเหลืองเมือกลื่น และอุจจาระก็ยังตามออกมาอีกด้วยทำให้เกิดความสกปรกและมีอาการเปียกชื้นอยู่ตลอดเวลา ช่วงนี้จะทำให้เกิดการติดเชื้อโรคเป็นไปได้ง่าย และเมื่อเลือดออกมาเรื่อย ๆ จะเกิดอาการซีด มีอาการอ่อนเพลีย น้ำหนักตัวลดลงจะเกิดอาการหน้ามืด ต้องรีบไปพบแพทย์

การวินิจฉัยโรคริดสีดวงทวาร

ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีเลือดสดออกทางทวารหนักระหว่างที่ถ่ายอุจจาระ ต้องหมั่นสังเกตอาการโดยจะมีเลือดเปื้อนกระดาษชำระหรือมีเลือดปนออกมากับอุจจาระ อาจรู้สึกเจ็บรุนแรงจนทำให้ยืน นั่ง หรือเดินไม่สะดวกและอาจคลำพบก้อนเนื้อที่เป็นหัวบริเวณปากทวารหนักในรายที่เป็นเรื้อรังหรือมีเลือดออกมาก ผู้ป่วยอาจมีอาการซีดจากการเสียเลือดได้
การรักษาโรคริดสีดวงทวาร

  1. ระวังอย่าให้ท้องผูก ควรดื่มน้ำมาก ๆ และกินผักผลไม้มาก ๆ ถ้ายังท้องผูกให้กินยาระบาย เช่น ยาระบายแมกนีเซีย ดีเกลือ อีแอลพีหรือสารเพิ่มกากใย
  2. ในกรณีที่ปวดมากเนื่องจากมีการอักเสบ ให้กินยาแก้ปวด นั่งแช่ในน้ำอุ่นจัด ๆ วันละ 2-3 ครั้ง ๆ ละ 15-30 นาที และใช้ยาเหน็บริดสีดวงทวารจนอาการบรรเทาปกติใช้เวลาประมาณ 7-10 วัน
  3. หากผู้ป่วยมีอาการซีด พิจารณาให้ยาบำรุงเลือดเสริมธาตุเหล็ก
  4. หากมีเลือดออกนานกว่า 1 สัปดาห์หรือเป็น ๆ หาย ๆ บ่อย หรือสงสัยมีโรคอื่นร่วมด้วยควรไปพบแพทย์เพื่อรักษาอย่างจริงจัง

Comments